ทำไมต้อง จัดฟันก่อนทำรากฟันเทียม
ต้อง จัดฟันก่อนทำรากฟันเทียม จริงหรือ? คนไข้หลายท่านที่มาปรึกษาเรื่องใส่ฟันซี่ใหม่ด้วยรากเทียม หรือครอบฟันบนรากฟันเทียมไม่ว่าจะเพียงซี่เดียวหรือหลายซี่ก็ตามอาจมีประเด็นสงสัยว่าทำไมทันตแพทย์จึงให้คำแนะนำคนไข้บางรายรับการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันก่อนจะใส่ฟันด้วยรากเทียมผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าถ้าคุณต้องการซื้อโซฟาชุดใหม่มาประดับห้องรับแขกเดิมที่มีสภาพข้าวของรกรุงรัง หรือเฟอร์นิเจอร์อื่นๆที่มีสภาพเก่า ไม่สวยงาม ผมคิดว่าคงมีหลายท่านคงต้องมีการวางแผนรีโนเวทห้องรับแขกใหม่เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตพักผ่อนที่ห้องรับแขกเดิมในรูปโฉมใหม่อย่างมีคุณภาพและถูกใจมากยิ่งขึ้น
“ดังนั้นการจัดวางข้าวของเดิมให้อยู่สภาพที่ลงตัวก่อน
การปรับแต่งซ่อมแซมเฟอร์นิเจอร์บางอย่างในห้องให้เรียบร้อยสวยงามก่อน
จึงเป็นสิ่งที่คุณจะทำเพื่อรอรับโซฟาชุดหรูชุดใหม่มาใช้ในห้องรับแขกโฉมใหม่ภายในบ้านของคุณ”
ไม่ต่างกับงานจัดฟันก่อนใส่ฟันซี่ใหม่ด้วยครอบฟันบนรากฟันเทียมเมื่อฟันธรรมชาติของคนไข้อยู่ในสภาพที่ไม่สวยงามเนื่องจากการสบฟันไม่ดีสามารถส่งผลถึงการบดเคี้ยวที่ด้อยประสิทธิภาพ หรือรูปปากอูมยื่นทันตแพทย์จึงให้คำแนะนำคนไข้แก้ไขโดยการจัดฟันก่อนใส่ครอบฟันซี่ใหม่ด้วยรากฟันเทียมซึ่งสามารถสรุปสาเหตุได้ดังนี้
- เพื่อให้ฟันธรรมชาติเรียงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมทั้งการสบฟันที่มีประสิทธิภาพ ความสวยงามในการเรียงตัวของฟันรวมถึงรูปปาก และรอยยิ้ม
- คุณสมบัติของโลหะไทเทเทียมที่ใช้ทำรากฟันเทียมจะช่วยให้เซลล์กระดูกเชื่อมติดกับผิวไทเทเนียมของรากฟันเทียมโดยจะใช้เวลาประมาณ 2-6 เดือนเพื่อให้ครอบฟันซี่ใหม่บนรากเทียมมีความแข็งแรงเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งขึ้นอยู่กับความหนาและความสูงกระดูกบริเวณใส่รากฟันเทียมด้วย
ดังนั้นเมื่อรากฟันเทียมยึดกับกระดูกเบ้าฟันแข็งแรงดีแล้ว รากฟันเทียมจะไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยแรงจากเครื่องมือจัดฟันดังนั้นการใส่รากเทียมจึงควรเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดเพื่อความสวยงาม และได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการบดเคี้ยวโดยปกติทันตแพทย์มักเลือกฝังรากเทียมในช่วงระยะท้ายๆของงานจัดฟัน หรือหลังถอดเครื่องมือจัดฟัน
พอพูดถึงการจัดฟันที่คนไข้จำเป็นต้องรับการรักษาร่วมกับการทำรากเทียมคนไข้หลายท่านอาจจะมีความคิดที่ว่า จัดฟันต้องเจ็บ และใช้เวลานานหลายปีในทุกราย ดังนั้นในบทความนี้ผมขอยกตัวอย่างเคสของคนไข้ 3 รายที่ได้มีการจัดฟันร่วมกับใส่รากฟันเทียมโดยทันตแพทย์สามารถเลือกเครื่องมือจัดฟันที่ใช้แรงที่ค่อนข้างน้อยในการเคลื่อนฟัน ทำให้ไม่เจ็บ รวมถึงระยะเวลาการรักษาที่สั้นขึ้น เช่น DAMON bracket และ FASTBRACES bracket รวมไปถึงเครื่องมือจัดฟันที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องมือจัดฟันทั้งปากเสมอไป แต่อาจเป็นแค่เครื่องมือบางส่วนก็สามารถทำให้การรักษาสำเร็จได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของคนไข้ และการวางแผนการรักษาของทันตแพทย์ด้วย
ตัวอย่างเคสที่ 1 (คนไข้วัย 27 ปี)
คนไข้มาปรึกษาใส่รากฟันเทียมสำหรับฟันหน้าบนข้างขวา หลังจากตรวจและวินิจฉัยโดยทันตแพทย์จึงได้สรุปมีการวางแผนการจัดฟันโดยใช้ Damon bracket โดยมีการถอนฟันกรามน้อยบน-ล่าง 3 ซี่เพื่อแก้ไขฟันซ้อนเกและรูปปากอูมยื่น รวมไปถึงจัดช่องว่างฟันหน้าตำแหน่งขวาบนเพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมในการใส่ฟันหน้าซี่ใหม่ด้วยครอบฟันบนรากเทียม โดยระยะเวลาการรักษารวมสำหรับการจัดฟันและทำรากเทียมในเคสนี้จะใช้เวลาอยู่ที่ 2 ปี 5 เดือน
ตัวอย่างเคสที่ 2 (คนไข้วัย 37 ปี)
สำหรับกรณีนี้คนไข้มาปรึกษาเรื่องใส่รากฟันเทียมที่ฟันกรามหลังด้านล่างซ้ายเนื่องจากมีความรู้สึกว่าฟันกรามซี่ถัดไปที่อยู่หลังช่องว่างล้มมาข้างหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการบดเคี้ยวที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพดีเหมือนเดิม หลังจากการตรวจวินิจฉัยจึงได้วางแผนการจัดฟันโดยใช้ FASTBRACES bracket เพื่อตั้งตรงฟันกรามล่างข้างซ้ายที่อยู่ด้านหลังของช่องว่าง รวมถึงแก้ไขฟันกรามบนข้างขวาที่ย้อยต่ำเนื่องจากคนไข้ถอนฟันกรามล่างไปเป็นเวลานานและไม่มีการใส่ฟัน นอกจากนี้การจัดฟันยังช่วยแก้ไขฟันหน้าล่างซ้อนเก และแก้ไขฟันหน้าล่างด้านขวาที่ถูกคร่อมด้วยฟันหน้าและฟันเขี้ยวข้างขวา รวมระยะเวลาทำการรักษาจัดฟันและใส่รากฟันเทียม 2 ซี่ใช้เวลา 5 เดือน
ตัวอย่างเคสที่ 3 (คนไข้วัย 47 ปี)
คนไข้เข้ามารับการปรึกษาเรื่องรากฟันเทียมฟันกรามบน-ล่างด้านซ้ายเพราะต้องการเคี้ยวอาหารให้ได้ดีและมีประสิทธิภาพทั้งสองข้าง หลังจากวินิจฉัยจึงได้มีการวางแผนจัดฟันโดยเลือกใช้เครื่องมือจัดฟันล่างบางส่วนที่ติดเฉพาะบริเวณกลุ่มฟันหลังล่างข้างซ้ายพร้อมหมุดเคลื่อนฟัน (เพื่อช่วยเคลื่อนฟันที่ล้มไปด้านหลัง) โดยสรุปแผนการรักษาด้วยการถอนฟันหลังข้างซ้ายบนสองซี่ที่ไม่มีคู่สบ และใส่รากฟันเทียมสำหรับฟันหลังด้านบน-ล่าง ในกรณีเคสนี้จะใช้เวลาการรักษา 11 เดือนสำหรับการฟันและใส่รากฟันเทียมพร้อมครอบฟัน 2 ซี่
ผมเชื่อว่าคนไข้จำเป็นต้องได้รับการปรึกษาและวางแผนร่วมกับทันตแพทย์โดยตรง การรวบรวมข้อมูลผ่านการตรวจวินิจฉัย การถ่ายภาพรังสี การประเมินความต้องการของคนไข้ รับรู้ถึงข้อจำกัดต่างๆทั้งด้านสุขภาพรวมไปถึงเวลาและค่าใช้จ่ายที่จะช่วยให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้กับคนไข้ได้
บทความโดย ทันตแพทย์มงคล ทวีปรังษีพร (หมอเม่น)